วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

อาการปวดกล้ามเนื้อ



เกือบทุกคนคงต้องเผชิญกับการปวดกล้ามเนื้อ เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง ถ้าอาการสามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน อาการปวดก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าปวดต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงถี่ขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังมีอาการของ โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษาให้ถูกวิธี จะทำให้ เกิดโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคปวดศีรษะเรื้อรัง โรคไมเกรน โรคความดันโลหิตสูง อาการนอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

          แพทย์อายุรเวท แวร์สมิง แวหมะ ประจำศูนย์รักษาไมเกรน และโรคปวดเรื้อรัง Doctor Care บอกว่า ปัจจุบันมี ประชากรกว่า ร้อยละ 30 มีปัญหาเรื่องโรคปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในสำนักงาน สาเหตุเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นก้อนเล็กๆ ขนาด 0.5-1 ซม. เรียกว่า Trigger Point หรือ จุดกดเจ็บจำนวนมากซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อหรือเยื่อพังพืด  
  
          "อาการของโรคจะมีอาการปวดร้าวลึกๆ ของกล้ามเนื้อ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลาทำงาน ความรุนแรงของการปวด มีตั้งแต่เมื่อยล้าพอรำคาญไปจนถึงทรมานจนไม่สามารถขยับบริเวณนั้นได้ บางกรณีมีอาการมือชาและขาร่วมด้วย บางรายมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับหรือมีอาการผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังงอ คอตก ขาสั้นยาว ไม่เท่ากัน"

          แพทย์อายุรเวทแวร์สมิง บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังเกิดจาก ท่านั่งทำงานไม่เหมาะสม ลักษณะงานที่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวต่อเนื่อง เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อซ้ำๆ การทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อท่าเดียวกันซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง การทำงานของกล้ามเนื้อมากเกินไป ขาดการพักผ่อน รวมถึง การขาดการบริหารกล้ามเนื้อ สำหรับการรักษา มีวิธีรักษาที่เรียกว่า Trigger Point Therapy รักษาเพียงอาทิตย์ละครั้ง ประมาณ 4-6 ครั้ง เป็นการรักษาที่ตัดวัฏจักรการปวด ลดอาการปวดที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการสลายจุด Trigger Point และ ป้องกันการกลับมา โดยการให้ความรู้ในการทำงานที่ถูกต้อง และการดูแลกล้ามเนื้อ

          "เพื่อไม่ให้โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังกลับมาเป็นอีก ผู้ป่วยต้องดูแลและบริหารกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ เช่น ฝึกการยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวบนต้นแขนและคอ โดยการประสานมือเข้าด้วยกันแล้วยืดมือออกไปด้านหน้า จากนั้นค่อยยกขึ้นด้านบน และด้านโยกไปด้านซ้ายและขวา

          "หรือการยืดกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว หลังต้นขาและกล้ามเนื้องอ เช่น ประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วยืดมือออกไปด้านบน จากนั้นค่อยๆ โยกลำตัวไปด้านข้างจนเอวรู้สึกตึง สลับไปอีกข้าง และรู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง" 
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์


1 ความคิดเห็น:

  1. ที่ร้านบ้านยาหอมมีเห็ดหลินจือแดงสกัดไหมคับ

    ตอบลบ